เมาส์ (Mouse)

   เมาส์ (อังกฤษmouse) คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมตัวชี้บนจอคอมพิวเตอร์ (pointing device) เป็นอุปกรณ์สำคัญในการใช้งานคอมพิวเตอร์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันถูกออกแบบมาให้มีรูปร่าง ลักษณะ สีสัน ต่าง ๆ กัน บางรุ่นมีไฟประดับให้สวยงาม เพื่อให้เมาะสมกับการใช้งานในแต่ละประเภทและความชื่นชอบของผู้ใช้ เช่นมีขนาดเล็ก มีส่วนโค้งและส่วนเว้าเข้ากับอุ้งมือของผู้ใช้ มีรูปร่างสีสันแปลกตาไปจากรุ่นทั่วไป หรือเป็นรูปตัวการ์ตูน และล่าสุดได้มีการพัฒนา เมาส์อากาศ (Air Mouse) ซึ่งสามารถใช้งานเมาส์โดยถือขึ้นมาเอียงไปมาในอากาศโดยไม่จำเป็นต้องใช้แผ่นรอง ก็สามารถควบคุมตัวชี้ได้เช่นกัน
การทำงานของเมาส์ภายในตัวเมาส์จะมีอุปกรณ์สำหรับตรวจจับตำแหน่งการเคลื่อนไหวของลูกกลิ้งยาง(สำหรับรุ่นเก่า)หรืออุปกรณ์ตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของแสง (ในเมาส์ที่ใช้แอลอีดีหรือเลเซอร์เป็นแหล่งกำเนิดแสง)โดยตัวตรวจจับจะส่งสัญญาณไปที่คอมพิวเตอร์เพื่อแสดงผลของตัวชี้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์




 เมาส์ (Mouse)


  การเชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ การใช้งานเมาส์ร่วมกับเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นจะต้องมีการต่อมันเข้ากับช่องต่อของคอมพิวเตอร์ ซึ่งในยุคแรก ๆ นั้นช่องสำหรับต่อเมาส์จะมีลักษณะเป็นหัวกลมใหญ่ภายในมีขาเป็นเข็มเรียกว่าแบบ DIN ต่อมามีการพัฒนาช่องต่อเป็นแบบหัวเข็มที่เล็กลงเรียกว่า PS/2 แต่การเชื่อมต่อทั้งสองแบบนั้นไม่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้หลากหลาย จึงมีการพัฒนาช่องต่อแบบ USB ขึ้นมา และในเวลาใกล้ ๆ กันก็ได้มีการพัฒนาการเชื่อมต่อเมาส์แบบไร้สายขึ้นมาโดยใช้สัญญาณวิทยุเป็นตัวเชื่อมต่อแทนสายเรียกว่า เมาส์ไร้สาย (Wireless mouse)
เมาส์ได้ชื่อมาจากรูปร่างของตัวมันเอง และสายไฟ ซึ่งมีลักษณะคล้ายหนู (Mouse) และหางหนู และขณะเดียวการเคลื่อนที่ของตัวชี้บนหน้าจอมีลักษณะการเคลื่อนที่ไม่มีทิศทางเหมือนการเคลื่อนที่ของหนู
          เมาส์ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 1963 โดยดักลัส เองเกลบาท (Douglas Engelbart) ที่สถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute) หลังจากการทดสอบการใช้งานอย่างละเอียด (เมาส์เคยมีอีกชื่อนึงว่า “บัก” (bug) แต่ภายหลังได้รับความนิยมน้อยกว่าคำว่า “เมาส์”) มันเป็นหนึ่งในการทดลองอุปกรณ์ชี้ (Pointing Device) สำหรับ Engelbart’s oN-Line System (NLS) ส่วนอุปกรณ์ชี้อื่นออกแบบมาเพื่อการเคลื่อนไหวในร่างกายส่วนอื่น ๆ เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ติดกับคางหรือจมูก แต่ท้ายที่สุดแล้วเมาส์ก็ได้รับการคัดเลือกเพราะง่ายต่อการใช้งาน
          เมาส์ตัวแรกนั้นมีขนาดใหญ่ และใช้เฟือง 2 ตัววางในลักษณะตั้งฉากกัน การหมุนของแต่ละเฟืองจะถูกแปลไปเป็นการเคลื่อนที่บนแกนในปริภูมิ 2 มิติ เองเกลบาทได้รับสิทธิบัตรเลขที่ US3541541 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1970 ชื่อ “X-Y Position Indicator For A Display System” (ตัวระบุตำแหน่ง X-Y สำหรับระบบแสดงผล) ในตอนนั้น เองเกลบาทตั้งใจจะพัฒนาจนสามารถใช้เมาส์ได้ด้วยมือเดียว
            เมาส์แบบต่อมาถูกประดิษฐ์ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 โดย บิล อิงลิช (Bill English) ที่ศูนย์วิจัยของบริษัท ซีรอกส์ (Xerox PARC) โดยแทนที่ล้อหมุนด้วยลูกบอลซึ่งสามารถหมุนไปได้ทุกทิศทาง การเคลื่อนไหวของลูกบอลจะถูกตรวจจับโดยล้อเล็ก ๆ ภายในอีกทีหนึ่ง เมาส์ชนิดนี้คล้าย ๆ กับแทร็กบอล และนิยมใช้กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลตลอดทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ทำให้การใช้เมาส์และคีย์บอร์ดในเวลาเดียวกันสามารถเป็นจริงได้
              เมาส์ในปัจจุบันได้รับรูปแบบมาจาก École polytechnique fédérale de Lausanne (EPFL) ภายใต้แรงบันดาลใจของ ศาสตราจารย์ Jean-Daniel Nicoud ร่วมกับวิศวกรและช่างนาฬิกาชื่อ André Guignard ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้ทำให้เกิดบริษัท โลจิเทค (Logitech) ผลิตเมาส์ที่ได้รับความนิยมสูงเป็นยี่ห้อแรก
     1) ประเภทของเมาส์ (mouse)
     เมาส์ (mouse)  แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
·    เมาส์แบบกลไก (Mechanical) โดยจะใช้ลูกบอลกลมๆ บรรจุอยู่ภายในตัวเมาส์ ทำหน้าที่คอยเปลี่ยนการลากเมาส์ ให้เป็นการหมุนล้อ กลไกภายในตัวเมาส์ เพื่อแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้า
·    เมาส์แบบใช้แสง (Optical) เป็นแบบที่ใช้แสงส่องลงไปที่พื้นแล้วสะท้อนกลับมาที่ตัวรับเพื่อวัดการเลื่อนตำแหน่ง ถ้าเป็นรุ่นใหม่จะสามารถใช้กับพื้นผิวได้แทบทุกแบบ
·    แบบไร้สาย (Wireless Mouse) มีการทำงานเหมือน เมาส์ทั่วไป เพียงแต่ไม่มีการใช้สายไฟต่อออกมาจากตัวเมาส์ ชนิดนี้จะมีตัวรับและตัวส่งสัญญาณซึ่งทางด้านตัวรับสัญญาณอาจจะเป็นหัวต่อแบบ USB ที่ในปัจจุบันใช้แบบ Nano receiver ซึ่งใช้ความถี่วิทยุที่ 2.4 GHz
นอกจากเมาส์แบบปกติที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งมักจะเป็นเมาส์แบบใช้ด้วยมือ แต่ยังมีเมาส์แบบอื่น ๆ อีก โดยทำสำหรับผู้ที่มักมีปัญหาเกี่ยวกับข้อมือเมื่อใช้เมาส์เป็นเวลานาน ๆ และผู้ที่ใช้เมาส์แล้วรู้สึกไม่สะดวก ซึ่งเมาส์แบบพิเศษนี้มีรูปแบบต่าง ๆ กันดังนี้
-         แทร็กบอล (Trackball) ใช้งานโดยการเคลื่อนลูกบอลบนแท่น
-            มินิเมาส์ (Mini-mouse) เมาส์ที่มีขนาดเท่าไข่ไก่ ซึ่งออกแบบมาเพื่อสะดวกต่อการพกพา มักจะใช้กับแลปทอป
-            แคเมราเมาส์ (Camera mouse) กล้องที่จะจับการเคลื่อนที่ของศีรษะแล้วเลื่อนเคอร์เซอร์บนจอไปตาม
-            พาล์มเมาส์ (Palm mouse) ใช้ถือไว้ในมือ และสามารถเร่งความเร็วของเมาส์ได้โดยการกดให้แรงขึ้น
-         ฟุตเมาส์ (Foot mouse) ใช้เท้าในการควบคุมแทนการใช้นิ้วมือกด
-            จอยเมาส์ (Joy-Mouse) เป็นการรวมกันระหว่างเมาส์และจอยสติก โดยใช้การโยกจอยแทนการเลื่อนเมาส์

          จากข้อมูลข้างต้น เห็นได้ว่าไม่ว่าเวลาผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม โครงสร้างและการทำงานของเมาส์ยังคงเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ เทคโนโลยีที่ทำให้เมาส์สามารถพัฒนาไปได้เรื่อยๆ  เริ่มจากเมาส์ลูกกลิ้งซึ่งสาเหตุที่ทำให้เมาส์ได้ถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ ก็เพื่อตอบสนองความต้องการให้กับผู้ใช้ ให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

ความคิดเห็น